ริเน็น—สร้างธุรกิจ 100 ปีด้วยหลักคิดแบบญี่ปุ่น

Background Photo by Clay Banks on Unsplash

ใครหลายคนที่ทำงานมาระยะหนึ่งคงจะชินกับการทำงานที่หวังให้ผลกำไรของบริษัทเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนมีคำถามว่าเราทำงานไปเพื่ออะไร? เป้าหมายชีวิตเราอยู่ตรงไหน? แล้วชีวิตจะดีมากแค่ไหนหากงานและบริษัทที่เราทำอยู่นั้น สามารถอธิบายเป้าหมายของชีวิตและเป้าหมายของบริษัทได้สอดคล้องกัน และยังสร้างประโยชน์ให้กับสังคมส่วนรวมได้อีกด้วย


“ริเน็น” คำสั้นๆ ที่บ่งบอกถึงจิตวิญญาณ

ผู้เขียนได้อธิบายไว้ว่า ริเน็นมาจากคำว่า ริ (理) ซึ่งแปลว่าเหตุผล ผสมกับคำว่าเน็น (念) ซึ่งความหมายดั้งเดิมแปลว่าสติ คำว่า ริเน็น (理念) จึงมีความหมายว่าเหตุผลที่เกิดจากสติ ซึ่งก็คือปัญญา หรือ ปรัชญานั่นเอง ลองมาดูตัวอย่าง ริเน็น กันครับ

“สร้างความสุขทั้งภายนอกและภายในให้แก่พนักงานทุกคน ตลอดจนสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่มนุษญ์และสังคม”

—บริษัท เคียวเซร่า (ผลิตเซรามิกและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์)

“จงดำเนินธุรกิจด้วยคุณธรรม หากมีคุณธรรมและมุ่งมั่นทำสินค้าที่ดีด้วยความซื่อสัตย์ คุณธรรมนั้นจะเป็นสินค้าเรียกลูกค้าเข้ามาเองโดยไม่จำเป็นต้องตะเบ็งเสียงขายสินค้า”

—บริษัท ฟุกุจุเอ็น (ร้านขายใบชาที่เก่าแก่ในเมืองเกียวโต

จะเห็นได้ว่า ริเน็น มักจะกล่าวถึงประโยชน์ที่บริษัทต้องการส่งมอบให้ลูกค้าและสังคม เป็นจิตวิญญาณที่หล่อหลอมบริษัทให้อยู่รอดต่อไปได้และมีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น

บริษัทที่ดี

หากกล่าวถึงบริษัทที่ดีต้องหมายถึงบริษัทที่มีสินค้าที่ดีที่สุด หรือบริษัทที่ให้ลูกค้าสำคัญที่สุด? คำตอบของบริษัทที่มีริเน็นคือ ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พนักงาน เมื่อบริษัทขาดทุนผู้ถือหุ้นมักกดดันให้ไล่พนักงานออก ในขณะที่บริษัทที่มีริเน็นนั้น จะไม่มองพนักงานเป็นค่าใช้จ่าย แต่มองเป็นผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุข เติบโตไปด้วยกัน (เคียวซงเคียวเอ หรือ ร่วมอยู่ร่วมเจริญ) สิ่งสำคัญคือ ต้องมองพนักงานในฐานะที่เป็นมนุษย์และเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน

ประธานอิเดมิตสึกล่าวว่า “พนักงานก็คือคนในครอบครัว ถ้าครอบครัวลำบาก เราจะไล่เขาออกจากบ้านหรือ?” ฉะนั้นไม่ว่าเกิดวิกฤตใดขึ้น เขาจะมุ่งมั่น ปกป้อง และดูแลพนักงานอย่างสุดชีวิต

—ประธานบริษัทอิเดมิตสึ

กำไรกับความสัมพันธ์ที่ยืนยาว

ในการเจรจากับคู่ค้าบริษัทจะต้องมุ่งผลประโยชน์เป็นอันดับแรก แต่กับบริษัทที่มีริเน็น จะพยายามทำธุรกิจโดยรักษาผลประโยชน์ของคู่ค้าด้วย เพราะการทำงานร่วมกันมานานจะทำให้บริษัทคู่ค้าเข้าใจความต้องการได้เป็นอย่างดี เช่น บริษัทซากุระจูทาขุ ซึ่งยอมลำบากจ่ายค่าวัสดุและค่าแรงเป็นเงินสดอย่างรวดเร็วเพื่อให้คู่ค้ามีเงินหมุนและยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างราบรื่น

พระรูปนี้กล่าวกับมัตซึชิตะภายหลังว่า “ถ้าต้องการ” ให้สัญญาฉบับหนึ่งประสบผลสำเร็จ มันจะต้องเป็นสัญญาที่ทั้งสองฝ่ายพอใจ ได้ผลประโยชน์ร่วมกัน และแบ่งปันกันอย่างเหมาะสม

ก็คงจะไม่แปลกใจเลยหาก “ริเน็น” จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นมีบริษัทอายุยืนมากที่สุดในโลก


ท้ายสุด หากอ่านเล่มนี้จบแล้วก็ต้องกลับมาถามตัวเองได้เลยว่าเราทำธุรกิจเพราะอยากมีธุรกิจ 100 สาขา หรืออยากมีธุรกิจอายุยืน 100 ปี? ความสำเร็จของบริษัทที่มีริเน็นเหล่านี้แทบจะมีปัจจัยที่ไม่แตกต่างกันนั่นคือ “คน” คนที่มีศรัทธาและความเชื่อในทิศทางเดียวกัน หากเพื่อนๆ อยากพบกรณีศึกษาที่ละเอียดยิ่งขึ้นแนะนำให้หามาอ่าน และมาร่วมกันสร้างบริษัทที่มี “ริเน็น” กันครับ